ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 — 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557) นักการทูต นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2533
ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เดิมชื่อ "บุญส่ง" เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรคนสุดท้องของนายพงษ์และนางแพ บำรุงพงศ์ มีอาชีพทำนา และเป็นผู้ใหญ่บ้าน ศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส ชั้นมัธยมที่โรงเรียนบพิตรภิมุข สอบเข้าศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ต้องลาออกเมื่อบิดาเสียชีวิต หันไปทำงานหนังสือพิมพ์ และเรียนกฎหมายนอกเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2484 และเปลี่ยนชื่อตัวเป็น "ศักดิชัย" ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีระเบียบบังคับให้ตั้งชื่อบุคคลให้แบ่งแยกเพศชัดเจน
ตั้งแต่เด็ก ศักดิชัย บำรุงพงศ์ สมัครเป็นลูกศิษย์หัดเรียนวาดรูปกับ เหม เวชกร และได้พบกับนักเขียนชื่อดังที่ไปพบปะกันที่บ้านครูเหม เช่น เสาว์ บุญเสนอ มนัส จรรยงค์ จึงเริ่มเขียนเรื่องสั้น ได้ตีพิมพ์ใน "ศรีกรุงวันอาทิตย์" "กรุงเทพวารศัพท์" เมื่อจบมัธยม 8 บิดาเสียชีวิตไม่มีเงินเรียนต่อ จึงไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" และ "สยามราษฎร์" แผนกข่าวต่างประเทศ แต่ได้ลาออกพร้อมกับกองบรรณาธิการทั้งหมดในปี พ.ศ. 2482 เมื่อบรรณาธิการคือ อบ ไชยวสุ ถูกบีบบังคับให้ลาออก
ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เริ่มรับราชการแผนกพานิชนโยบายต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐการ และสอบได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่เมื่อเดินทางไป กลับไม่ได้เข้าเยอรมนีเพราะเริ่มเกิดสงครามในยุโรปตะวันออกแล้ว จึงเดินทางกลับไทย ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ "สุวรรณภูมิ" ร่วมงานกับทองเติม เสมรสุต อิศรา อมันตกุล เริ่มเขียนเรื่องสั้นโดยใช้นามปากกา "สุจริต พรหมจรรยา" เริ่มมีชื่อเสียงจากเรื่องสั้นชื่อ "อาเคเชียปลายฤดูร้อน" ซึ่งใช้นามปากกา "เสนีย์ เสาวพงศ์" เป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนได้รับการแปลเป็นภาษาจีน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตงง้วน รายสัปดาห์ และใช้นามปากกานี้เป็นหลักในเวลาต่อมา
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ศักดิชัยกลับเข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2485 และร่วมงานกับเสรีไทยสายอังกฤษ ในช่วงท้ายของสงคราม พร้อมกับเขียนบทความใน "นิกรวันอาทิตย์" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" "อโยธยา" "รุ่งอรุณ"
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เริ่มเป็นนักการทูตในต่างประเทศ ใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซีย (2490-2497) อาร์เจนตินา (2498-2503) อินเดีย (2505-2508) ออสเตรีย (2511-2515) อังกฤษ (2516-2518) ได้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเอธิโอเปีย เมื่อ พ.ศ. 2518 และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2521
หลังเกษียณอายุ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาในเครือมติชน และมีงานเขียนนวนิยาย "คนดีศรีอยุธยา" (2524) "ใต้ดาวมฤตยู" (2526) และเขียนบทความประจำในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลศรีบูรพาคนแรก ในปี พ.ศ. 2531 รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2533 และรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2541
เป็นที่รู้จักมากกับงานเขียนนิยายเรื่อง ปีศาจ โดยเฉพาะคำพูดเรื่อง ‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’ ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสักคมกับการพยามเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคมนำไปสู่สิ่งที่ สาย สีมา ตัวเอกของเรื่องเรียกว่า ‘ความละเมอหวาดกลัว’ โดย สาย สีมา กล่าวต่อหน้าสมาคมของชนชั้นสูงว่า "...สำหรับท่านที่อยู่ในปราสาทนั้นไม่จำเป็นจะต้องแตะต้อง เพราะอย่างไรก็จะต้องเสื่อมสลายไปตามเวลา ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก เมื่อคืนวันเวลาล่วงไป ของเก่าทั้งหลายก็นับวันจะเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น
ท่านเข้าใจผิดที่คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี เพราะนับเป็นการถอยหลังกลับ เวลาได้ล่วงไปมากแล้วระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว
และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้แต่ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกะพันยิ่งกว่าอคิลลิสหรือซิกฟรีด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา"
ศักดิชัย ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ณ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ โดยเข้ารับการรักษาอาการป่วยมาระยะหนึ่งแล้ว เบื้องต้นมีรายงานว่า จะมีพิธีรดน้ำศพ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. ณ ศาลา5 วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร
ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) ? โรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน) ? โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) ? สมบัติ พลายน้อย (ส. พลายน้อย)